วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

นิรโทษกรรม

นิรโทษกรรม
 
 
 
นิรโทษกรรม มีความหมายว่า การทำให้ไม่มีโทษ หรือการอันไม่มีโทษ อาจหมายถึง
  • นิรโทษกรรม (justifable act) - การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แต่กฎหมายบัญญัติว่า ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย
  • นิรโทษกรรม (amnesty) - การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

พูดถึงคำว่า "นิรโทษกรรม" แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่า คำว่า "นิรโทษกรรม" มีความหมายครอบคลุมแค่ไหน?
          ในทางกฎหมายจะแบ่งความหมายของ "นิรโทษกรรม" (Amnesty) ไว้ 2 แบบ คือ

           นิรโทษกรรม (ตามกฎหมายแพ่ง) หมายถึง การกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่า ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น การกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย
             นิรโทษกรรม (ตามกฎหมายอาญา) หมายถึง การลบล้างการกระทําความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทํามาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทําการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

          หากถอดความหมายจากตัวอักษรดู ก็จะเข้าใจได้ว่า "นิรโทษกรรม" คือ การออกกฎหมายยกเลิกความผิดนั้นให้กับผู้ที่กระทำผิด ทำให้ผู้ที่กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ เพราะถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ส่วนผู้ที่รับโทษไปแล้วก็ให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด นอกจากนี้ ทางการจะไม่สามารถรื้อคดีต่าง ๆ ที่ได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้วกลับมาสืบสวนหาความจริงได้อีกเลย เพราะกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมาจะทำให้การกระทำนั้น ๆ ไม่เป็นความผิดโดยสมบูรณ์
          เท่ากับว่า "นิรโทษกรรม" คือการลบล้างความผิดทุกอย่าง และเป็นยิ่งกว่า "การอภัยโทษ" เพราะการอภัยโทษนั้น ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นโทษให้ทั้งหมด หรือบางส่วน แต่ก็ยังถือว่าผู้นั้นเคยกระทำผิด และเคยต้องคำพิพากษามาก่อน ขณะที่ "นิรโทษกรรม" จะให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยกระทำผิดมาก่อนเลย


พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
 
กฏหมายนิรโทษกรรมแบ่งได้ 2 ประเภท
 
           1. การนิรโทษกรรมเป็นการทั่วไป หรือการนิรโทษกรรมโดยเฉพาะเจาะจง เช่น การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดทางการเมือง (Political  Offence) ทุกประเภท หรือ ให้เฉพาะแก่ผู้กระทำความผิดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษโดยกำหนดไว้ชัดเจน

           2. การนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข หรือโดยไม่มีเงื่อนไข หมายถึงว่า การนิรโทษกรรมนั้นเป็นการนิรโทษกรรมที่เด็ดขาดหรือไม่ หากเป็นการนิรโทษกรรมเด็ดขาด ไม่มีเงื่อนไข ก็จะทำให้บุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดไปโดยปริยาย แต่หากเป็นการนิรโทษกรรมที่มีเงื่อนไข ผู้ที่กระทำผิดจะต้องปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะได้รับการนิรโทษกรรม

          ทั้งนี้ ผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือ "รัฐสภา" เพราะถือว่าเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง เพื่อให้คุณแก่ผู้กระทำความผิด และต้องตราขึ้นเป็น "พระราชบัญญัติ" เท่านั้น เว้นแต่กรณีเร่งด่วน รัฐบาลสามารถตราเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมขึ้นบังคับได้ โดยต้องผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติในภายหลัง

          ...เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม น่าจะมีข้อดี หรือข้อเสียอย่างไรบ้าง ?

         
หากมองในแง่ดี การนิรโทษกรรม ก็คือการให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นการเปิดทางเพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้บ้านเมือง อย่างเช่นหลังสิ้นสุดสงคราม ทางการอาจประกาศนิรโทษกรรมให้พลเมืองที่ร่วมกันก่อกบฏ เพื่อให้คนที่ยังหลบหนีปรากฏตัว และเป็นการกระตุ้นให้เกิดความปรองดองกันระหว่างผู้ละเมิดกับสังคม ซึ่งผู้ที่พ้นความผิดไปแล้วอาจเรียกสิทธิบางอย่างที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ เช่น สิทธิการเลือกตั้ง สิทธิที่จะเข้ารับราชการ
          แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การออกกฎหมายนิรโทษกรรม อาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีให้แก่สังคม เพราะอาจทำให้คนที่มีอำนาจไม่เกรงกลัวกฎหมาย หากทำอะไรผิดกฎหมายไป ก็สามารถมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กลุ่มของตัวเองภายหลังได้ นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีคนออกมาคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะเกรงว่าผู้ที่เสียหายจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองจะไม่ได้รับความเป็นธรรม


กฏหมายอาญา Criminal Law

กฏหมายอาญา Criminal Law


กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำใดเป็นความผิดและได้กำหนดโทษซึ่งจะลงแก่ความผิดนั้นได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน
กฎหมายอาญา มีความมุ่งหมายในอันที่จะป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคม เพื่อให้สังคมอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
กฎหมายอาญา มีประเภทต่างๆ หลายประเภท ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติต่างๆ ที่ได้ระบุว่าการกระทำใดเป็นความผิด และมีกำหนดโทษไว้ ล้วนเป็นกฎหมายอาญาทั้งสิ้น เช่นพระราชบัญญัติยาเสพย์ติดให้โทษ พระราชบัญญัติความผิดเกิดจากการใช้เช็ค พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดเป็นต้น
ขอบเขตในการใช้กฎหมายอาญา1. เวลาที่กฎหมายใช้บังคับ
กฎหมายอาญามีผลใช้บังคับต่อเมื่อขณะที่กระทำผิดนั้น มีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและมีกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
หากการกระทำของบุคคลใดในขณะที่กระทำนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและไม่ได้กำหนดโทษไว้ ผู้กระทำนั้นไม่ต้องรับโทษทางอาญา

2. สถานที่ที่กฎหมายอาญาใช้บังคับ
กฎหมายอาญาใช้บังคับได้เฉพาะในราชอาณาจักรไทย การกระทำผิดนอกราชอาณาจักรไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายอาญาของไทย  แต่การกระทำผิดในเรือไทย หรืออากาศยานไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร

3. บุคคลที่กฎหมายอาญาใช้บังคับ
บุคคลทุกคนไม่ว่าสัญชาติใด หากมากระทำผิดในราชอาณาจักรไทย หรือถือว่าการกระทำนั้น เป็นการกระทำผิดในราชอาณาจักรไทย  ใช้กฎหมายอาญาของไทยลงโทษผู้กระทำผิดนั้นได้
สาระสำคัญของความผิดทางอาญา
ความผิดทางอาญา หมายถึง การกระทำหรือละเว้นการกระทำที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ โดยปกติการกระทำความผิดอาญาจะต้องเป็นการกระทำภายในราชอาณาจักร ยกเว้นบางกรณี เช่นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร การปลอมแปลงเงินตราและการทำความผิดในเรือไทย หรืออากาศยานไทย ให้ถือว่าเป็นความผิดที่กระทำภายในราชอาณาจักรด้วยการกระทำ แบ่งเป็น
กระทำโดยเจตนา
และกระทำโดยประมาท

กระทำโดยเจตนา หมายถึง กระทำโดยรู้สำนึกและขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล
กระทำโดยรู้สำนึก คือ ขณะที่กระทำนั้นรู้ว่าตนทำอะไร
กระทำโดยประสงค์ต่อผล คือ ทำไปโดยต้องการให้เกิดผลเช่น แล้วเกิดผลเช่นนั้น ตามที่ตนต้องการ
กระทำโดยย่อมเล็งเห็นผล คือ ผู้กระทำไม่ต้องการให้เกิดผลเช่นนั้นขึ้น แต่รู้อยู่ว่าเมื่อทำเช่นนั้นแล้วต้องเกิดผลเช่นนั้นขึ้นอย่างแน่นอน
กระทำโดยประมาท หมายถึง การกระทำโดยไม่ใช้ความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในฐานะเช่นนั้นสามารถใช้ความระมัดระวังได้แต่ไม่ใช้ให้เพียงพอ
ละเว้นการกระทำ คือ กฎหมายบังคับให้ทำแล้วไม่ทำ ถือว่าละเว้นการกระทำ โดยมีกฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด

ผู้ร่วมกระทำผิดอาญา
การกระทำผิดอาญานั้น ผู้ใดทำผิดผู้นั้นต้องรับโทษ แต่หากมีบุคคลอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการกระทำผิดผู้นั้นก็ต้องร่วมรับโทษด้วย
1. ตัวการ คือ คนตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปร่วมมือร่วมใจกันกระทำผิด
ร่วมมือ คือ ร่วมกระทำที่แสดงออกมาภายนอก
ร่วมใจ คือ มีเจตนาร่วมกระทำผิด เป็นการกระทำที่อยู่ภายใน สามารถทราบได้ทางพฤติกรรมต่างๆ ที่ส่อแสดงให้เห็นว่า ผู้กระทำมีเจตนาเช่นนั้น เช่น นาย ก กับ นาย ข ได้ตกลงกันที่จะทำร้ายร่างกายนายดำ แล้วนายก กับนาย ข ได้ร่วมกันชกต่อยเตะทำร้ายร่างกายนายดำ กรณีเช่นนี้ ทั้งนาย ก และนาย ข มีเจตนาร่วมทำผิดด้วยกัน เรียกว่าร่วมใจ
ตัวการนั้น ผู้กระทำผิดต้องร่วมมือและร่วมใจ หากขาดไปประการใดประการหนึ่งไม่ถือเป็นตัวการ
2. ผู้ใช้ให้กระทำความผิด
ผู้ใช้ให้กระทำความผิด หมายถึง บุคคลที่คิดและตกลงใจจะกระทำความผิดอย่างหนึ่งแต่ไม่ได้กระทำกลับใช้คนอื่นโดย การจ้าง การวาน การยุยงส่งเสริม การบังคับ การขู่เข็ญ ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้อื่นทำแทน
3. ผู้สนับสนุน
ผู้สนับสนุน คือ ผู้ที่กระทำการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด เช่น นายดำต้องการยิงนายแดง
นายขาวให้นายดำยืมปืนไปเพื่อไปยิงนายแดง นายขาวเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด
4. ผู้โฆษณา คือผู้ที่กระทำการชี้นำชักชวน จนผู้อื่นคล้อยตาม และกระทำความผิดตามคำโฆษณานั้น
การพยายามกระทำความผิด
พยายามกระทำความผิด คือ ผู้ที่ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่เป็นผลสำเร็จตามความต้องการของผู้กระทำ
ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษ สองในสามของความผิดสำเร็จ
การกระทำที่ไม่เป็นความผิด
เรียกกันว่า การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย คือผู้ที่จำต้องกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้าย อันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ ผู้กระทำไม่มีความผิด ชาวบ้านเรียกกันว่า “การป้องกันพอสมควรแก่เหตุ”
เช่น  นายดำยกปืนยิงนายแดง นายแดงจึงใช้ปืนยิงนายดำ จนถึงแก่ความตาย ถือว่าแดงป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
การกระทำผิดซึ่งได้รับยกเว้นโทษ
- เด็ก เด็กไม่เกิน7 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็น ความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
- กระทำด้วยความจำเป็น คือ ผู้ที่ต้องกระทำผิดด้วยความ จำเป็นเพราะถูกบังคับ หรือด้วยความจำเป็นเพื่อให้พ้นภยันตราย ซึ่งภยันตรายนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ และได้กระทำไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ เช่น นายเอกไปช่วยงานแต่งงาน ถูกนักเลงหลายคนวิ่ง ไล่ทำร้าย นายเอกวิ่งหลบเข้าไปในห้องที่พวกเจ้าบ่าว เจ้าสาวอยู่ นายดำมายืนกั้นไม่ให้นายเอกเข้าไปในห้อง นายเอกจึงชกนายดำกระเด็นไป แล้ววิ่งเข้าไปหลบในห้อง ผิดฐานทำร้ายร่างกาย แต่กระทำด้วยความจำเป็น จึงไม่ต้องรับโทษ
- การกระทำตามคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงาน เช่น สิบตำรวจเอกดำไล่จับนายเหลือง สิบตำรวจเอกดำสั่ง ให้นายขาวช่วยจับนายเหลืองได้ ต่อมาปรากฏว่านายเหลืองไม่ใช่คนร้าย ไม่เคยกระทำความผิด การที่นายขาวจับนายเหลืองนั้น นายขาวมีความผิดฐาน ทำให้นายเหลืองเสื่อมเสียเสรีภาพ แต่นายขาวได้ปฏิบัติตน ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานและนายขาวเชื่อโดยสุจริตว่าสิบตำรวจเอกดำ ได้สั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย นายขาวจึงไม่ต้องรับโทษ
การกระทำผิดซึ่งมีเหตุลดหย่อนโทษ
- กรณีที่เป็นญาติ เช่นเป็นบุพการีกับผู้สืบสันดาน ตัวอย่าง บิดาทำต่อบุตร หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาทำผิดต่อกัน
“พี่สาวลักทรัพย์ของน้องชาย กรณีเช่นนี้กฎหมายให้ลง น้อยลง และถึงแม้จะเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ ก็สามารถยอมความเลิกแล้วต่อกันได้”
-การกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ คือผู้ที่กระทำความผิด เนื่องจากถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และได้กระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น เช่น นายดำกลับมาบ้าน เห็นนายเขียวมาเป็นชู้กับภรรยา
ตน และนายเขียววิ่งหนีออกจากบ้านไป นายดำวิ่งไล่ตาม ใช้มีดแทงนายเขียวจนตาย
-เด็กกระทำผิด 14-17 ศาลว่ากล่าวตักเตือน กำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ หรือจะพิพากษาลงโทษ และให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นลงกึ่งหนึ่ง 17- 20 กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ศาลจะลดมาตราส่วนโทษลงหนึ่งในสาม
-การบรรเทาโทษ การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำผิดไปนั้น ย่อมจะมีสาเหตุ และพฤติการณ์ที่แตกต่างกัน รวมทั้งผู้กระทำผิดนั้นเอง ก็มิได้มีเหมือนกันทั้งร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อมก็ แตกต่างกัน การกำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้น จึงไม่อาจกำหนดตายตัวแน่นอนได้ กฎหมายจึงให้พิจารณา ข้อลดหย่อนโทษต่าง ๆ ให้แก่ผู้กระทำผิด กล่าวคือ สามารถลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่ผู้โฉดเขลาเบาปัญญา ผู้ตกอยู่ใน ความทุกข์อย่างสาหัส ผู้มีคุณความดีมาก่อน ผู้รู้สำนึกและพยายามบรรเทาผลร้ายของการกระทำผิด ให้ความรู้แก่ศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นต้น

ความผิดทางอาญาคืออะไร 
ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบการเทือนต่อสังคม รัฐจึงต้องลงโทษผู้กระทำผิด โดยมีหลักสำคัญคือ
• การกระทำนั้นต้องมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดแจ้ง
• โทษที่ลงต้องเป็นโทษที่กฎหมายกำหนดไว้
• กฎหมายต้องไม่มีผลย้อนหลัง
โทษอาญามีอะไรบ้าง 
โทษอาญาที่ใช้ลงแก่ผู้กระทำผิดมี ๕ ประการเท่านั้น คือ
• ประหารชีวิต
• จำคุก
• กักขัง
• ปรับ
• ริบทรัพย์สิน

ความรับผิดทางอาญา
ผู้กระทำการที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดจะต้องรับผิดทางอาญาเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าแม้ไม่ได้กระทำโดยเจตนาก็เป็นความผิด เช่น
• การกระทำโดยประมาท
• การกระทำความผิดลหุโทษ
ผู้กระทำการที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่ามีเหตุผลสมควร
ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดในทางอาญา
เหตุยกเว้นความผิด ถือว่าผู้กระทำไม่มีความผิดอาญาเลย เช่น
• การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
• ผู้เสียหายยินยอมให้กระทำ
• มีกฎหมายประเพณี
• มีกฎหมายอื่นให้อำนาจกระทำได้
เหตุยกเว้นโทษทางอาญา
ถือว่ายังเป็นความผิดอยู่แต่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษทางอาญา
• การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
• การกระทำความผิดเพราะความบกพร่องทางจิต
• การกระทำความผิดเพราะความมึนเมา
• การกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน
• สามี ภริยา กระทำความผิดต่อกันในเรื่องทรัพย์
• เด็กอายุไม่เกิน ๑๔ ปี กระทำความผิด
เหตุลดหย่อนโทษ เป็นเหตุที่ศาลอาจลงโทษสถานเบาได้    • ศาลเชื่อว่าบุคคลนั้นไม่รู้กฎหมาย
• การกระทำโดยบันดาลโทสะ
• บุพการีกับผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องที่การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

เด็กและเยาวชนกระทำความผิด 
เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดอาจกระทำไปเพราะขาดความสำนึกเท่าผู้ใหญ่ โทษสำหรับเด็กจึงต้องแตกต่างกับผู้ใหญ่โดยแบ่งออก เป็น ๔ ระดับ คือ
• อายุ ไม่เกิน ๗ ปี ไม่ต้องรับโทษ
• อายุกว่า ๗ ปี แต่ไม่เกิน ๑๔ ปี ไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลอาจว่ากล่าวตักเตือนและวางข้อกำหนดให้บิดามารดาปฏิบัติหรือส่งตัวเด็กไปให้หน่วยงานของรัฐ(บ้านเมตตา) ดูแลอบรมสั่งสอนจนอายุครบ ๑๘ ปี
• อายุกว่า ๑๔ ปี แต่ไม่เกิน ๑๗ ปี อาจใช้วิธีการดังกล่าวข้างต้นหรือลงโทษเช่นเดียวกับผู้ใหญ่แต่ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่ง
• อายุกว่า ๑๗ ปี แต่ไม่เกิน ๒๐ ปี ลงโทษเช่นเดียวกับผู้ใหญ่แต่ลดมาตราส่วนโทษลง ๑ ใน ๓ หรือ กึ่งหนึ่ง
เหตุบรรเทาโทษ เพิ่มโทษ ลดโทษ และรอการลงโทษ 
เหตุบรรเทาโทษ เป็นการกำหนดโทษให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเพื่อให้โอกาสผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี มีหลักคือ
• ใช้หลังจากที่เพิ่มโทษแล้ว
• เป็นดุลยพินิจของศาล
• ลดได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลง
เหตุบรรเทาโทษได้แก่ เป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญา อยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้าย หรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือมีเหตุอื่นๆ ที่สมควร
เหตุเพิ่มโทษ ลดโทษ และรอการลงโทษ เป็นการกำหนดโทษให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเพื่อป้องกันสังคม และแก้ไขผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นพลเมืองดีและกลับเข้าอยู่ในสังคมได้ต่อไป
การพยายามกระทำความผิด คือการกระทำความผิดที่พ้นขั้นตอนการลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำความผิดนั้นไม่บรรลุผลตามที่ต้องการมี ๒ กรณี คือ
กระทำการไปไม่ตลอดจนความผิดสำเร็จซึ่งอาจเกิดจากการสมัครใจเองหรือถูกขัดขวางจากภายนอกก็ได้  ได้กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลตามที่ต้องการ ผู้ที่พยามกระทำความผิดต้องรับโทษ ๒ ใน ๓ ส่วน ของโทษสำหรับความผิดนั้น
การร่วมกันกระทำความผิด การร่วมกันกระทำความผิดหรือที่เรียกกันว่า “ตัวการ” คือ การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงใจร่วมกันที่จะกระทำความผิดเดียวกัน ซึ่งอาจมีการแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อหวังผลในการกระทำความผิดนั้น ทุกคนต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

การก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด 
การก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดหรือที่เรียกว่า “ผู้ใช้” คือ การที่ทำให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นการบังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการใด ทุกคนต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้ถูกใช้มิได้กระทำตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษเพียง ๑ ใน ๓
การสนับสนุนการกระทำความผิด 
การสนับสนุนการกระทำความผิด คือ การที่เข้าไปมีส่วนในการกระทำความความผิดที่ยังไม่เป็นตัวการแต่เข้าไปช่วยเหลือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดต้องรับโทษ ๒ ใน ๓

อายุความ 
อายุความ เป็นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อมิให้ผู้กระทำผิดต้องมีชนักติดหลังไปตลอดชีวิตและเป็นการที่เร่งรัดคดีให้ได้ตัวผู้กระทำความผิด มาพิจารณาโดยเร็วเนื่องจากการปล่อยระยะเวลาให้เนิ่นนานไปจะทำให้ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดได้
อายุความมี ๓ ประเภท คือ
• อายุความฟ้องคดีทั่วไป มี ๕ ระดับ คือ
- ๒๐ ปี สำหรับความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก ๒๐ ปี
- ๑๕ ปี สำหรับความผิดที่มีระวางโทษจำคุกกว่า ๗ ปี แต่ยังไม่ถึง ๒๐ ปี
- ๑๐ ปี สำหรับความผิดที่มีระวางโทษจำคุกกว่า ๑ ปี ถึง ๗ ปี
- ๕ ปี สำหรับความผิดที่มีระวางโทษจำคุกกว่า ๑ เดือน ถึง ๑ ปี
- ๑ ปี สำหรับความผิดที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ เดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
• อายุความฟ้องคดีความผิดอันยอมความได้ นอกจากถือตามอายุความฟ้องคดีทั่วไปแล้ว ยังต้องร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดด้วย
• อายุความฟ้องขอให้กักกัน จะฟ้องไปพร้อมกับการฟ้องคดีอันเป็นเหตุที่ขอให้กักกันหรืออย่างช้าภายใน ๖ เดือนนับแต่วันที่ฟ้องคดีดังกล่าว
ความผิดต่อแผ่นดินและความผิดต่อส่วนตัว 
ความผิดต่อแผ่นดิน คือ ความผิดที่มีผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกระทำแล้วยังมีผลกระทบต่อสังคม รัฐจึงต้องเข้าดำเนินการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้แม้ผู้ที่ถูกกระทำจะไม่ติดใจเอาความกับผู้กระทำผิดต่อไปแล้วก็ตามเพื่อป้องกันสังคม
ความผิดต่อส่วนตัว คือ ความผิดที่มีผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกระทำ แต่ไม่มีผลกระทบต่อสังคมโดยตรง ดังนั้น เมื่อผู้ที่ถูกกระทำจะไม่ติดใจเอาความกับผู้กระทำผิดต่อไปแล้ว รัฐก็ไม่จำต้องเข้ไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอีกต่อไป
การกระทำความผิดใดเป็นความผิดต่อแผ่นดินและความผิดต่อส่วนตัวนั้นมีหลักอยู่ว่า ความผิดใดเป็นความผิดต่อส่วนตัวต้องมีกฎหมายกำหนดไว้โดยชัดแจ้ง ความผิดนอกจากนั้นถือเป็นความผิดต่อแผ่นดิน


               

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กฏหมายรัฐธรรมนูญ

กฎหมายรัฐธรรมนูญ

 

ประเทศไทยแต่เดิมนั้น อำนาจในการปกครองแผ่นดินเป็นสิทธิขาดของพระมหากษัตริย์แต่พระองค์เดียว หรือที่เรียกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.. 2475 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้มีกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่นั้นมารัฐธรรมนูญกลายเป็นหลักสำคัญในการปกครองประเทศ แม้จะมีการยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายครั้งตามสภาวะการณ์ของบ้านเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 ของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
 

     ลักษณะทั่วไปของรัฐธรรมนูญ

                รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศและถือเป็นแม่บทของกฎหมายต่างๆ ถ้ากฎหมาย ใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญกฎหมายนั้นจะใช้บังคับไม่ได้เมื่อกล่าวถึงรัฐธรรมนูญจะเกี่ยวข้องกับเรื่องรูปแบบการปกครอง ประมุขของประเทศ อำนาจอธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
                รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทยคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดรูปแบบให้ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช้เป็นสหพันธรัฐ สาธารณรัฐ หรือสมาพันธรัฐให้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดของรัฐแบ่งเป็น 3 ส่วนคืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ อำนาจอธิปไตยดังกล่าวเป็นของปวงชนชาวไทย โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตี และอำนาจตุลาการผ่านทางศาล นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเสมอภาคกัน
 
     หลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
 

หลักการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ

                1. ให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ตลอดจนเพิ่มสิทธิและเสรีภาพใหม่ ให้แก่ประชาชน
                2.  ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเสนอกฎหมายได้
                3.   ปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ และสร้างองค์กรเพื่อควบคุม ตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจ
 
 

     สิทธิและเสรีภาพและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

 
                สิทธิ (Right) หมายถึง   ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้
                เสรีภาพ (Liberty) หมายถึง  ความมีอิสระที่จะกระทำหรืองดเว้นกระทำการ ถ้าเสรีภาพใดมีกฎหมายรองรับ เสรีภาพก็อาจกลายเป็นสิทธิได้ จึงมักเรียกรวม ๆ กันว่า สิทธิและเสรีภาพ
                หน้าที่ (Obligation) หมายถึง  สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้กระทำหรืองดเว้นกระทำ เมื่อมีสิทธิแล้วจะมีหน้าที่ควบคู่ไปด้วยเสมอ
 

     สิทธิและเสรีภาพของพลเมืองไทย

 
                1. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น ห้ามทรมาน ทารุนกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีโหดร้าย หรือไร้มนุษยธรรม
                2.  สิทธิในครอบครัวและความเป็นอยู่ส่วนตัว  รัฐธรรมนูญห้ามกล่าวหรือเผยแพร่ข้อความ   หรือภาพไปสู่สาธารชน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัว เช่น แอบถ่ายภาพผู้อื่นขณะอยู่ในบ้านแล้วนำไปพิมพ์จำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต
                3.  เสรีภาพในเคหสถาน  บ้านเป็นสถานที่อยู่อาศัยสามารถอยู่อย่างสงบสุข ปราศจากสิ่งใด ๆ มารบกวน แม้แต่อำนาจของรัฐ ผู้อื่นจะเข้าไปภายในบ้านโดยผู้อาศัยในบ้านไม่ยินยอมไม่ได้
                4.  เสรีภาพในการเดินทาง   และเลือกถิ่นที่อยู่   ประชาชนมีสิทธิเดินทางไปที่ใด หรือตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรก็ได้ และจะเนรเทศผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ได้ อย่างไรก็ดีอาจออกกฎหมายเฉพาะจำกัดเสรีภาพนี้
                5.  เสรีภาพในการสื่อสาร  รัฐธรรมนูญคุ้มครองการติดต่อสื่อสารถึงกันโดยที่คนอื่นไม่อาจล่วงรู้ข้อความได้ ดังนั้นจึงห้ามตรวจ กัก เปิดเผยสิ่งสื่อสารที่มีผู้ติดต่อถึงกันหรือทำวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้รู้ข้อความ เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐจะอ่านจดหมายที่ประชาชนส่งถึงกันหรือดักฟังโทรศัพท์ไม่ได้ เว้นแต่มีกฎหมายเฉพาะอนุญาตให้ทำได้
                6. เสรีภาพในการถือศาสนา  พลเมืองไทยมีเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ แม้เป็นเพียงนิกาย หรือลัทธินิยมในทางศาสนา
                7. สิทธิในการไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน  รัฐธรรมนูญห้ามเกณฑ์แรงงานประชาชนไปขุดคลองหรือก่อสร้าง เว้นแต่มีกฎหมายเฉพาะให้อำนาจไว้ เช่น ป้องกันภัยพิบัติสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างฉุกเฉิน หรือประเทศอยู่ในภาวะสงคราม
                8.  เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าโดยการพูด หรือการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
                9.  เสรีภาพในทางวิชาการ  รัฐธรรมนูญส่งเสริมทางทำงานวิชาการโดยคุ้มครองการศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย หรือการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองดีหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
                10.   เสรีภาพในการชุมชน   การชุมนุมที่กระทำได้ต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ
                11.  เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม  ประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันได้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการเช่น รวมตัวกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ กลุ่มเกษตรกร องค์กรเอกชนหรือหมู่คณะอื่น ๆ
                12. เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง   การรวมกลุ่มของประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกัน อาจออกมาในรูปของการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันและดำเนินกิจการทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น
                13.  สิทธิต่อต้านการยึดอำนาจ  การธำรงรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย อาจต้องใช้วิธีต่อต้านการยึดอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ เช่น การใช้กำลังปฏิวัติรัฐประหาร รัฐธรรมนูญกำหนดว่าการต่อต้านต้องทำโดยสันติวิธี
                14.  สิทธิในทรัพย์สิน  มนุษย์จำเป็นต้องหาทรัพย์สินเงินทอง และเก็บไว้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของตน หากทรัพย์ที่อุตส่าห์หามาได้ด้วยความเหนื่อยยาก ต้องถูกผู้อื่นฉกฉวยเอาไป ย่อมไม่เป็นธรรมต่อเขา รัฐธรรมนูญจึงคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน และการตกทอดของทรัพย์สินไปยังทายาท
                15.    เสรีภาพในการประกอบอาชีพ   บุคคลสามารถประกอบกิจการ  หรือประกอบอาชีพใดก็ได้โดยมีกติกาคือให้แข่งขันกันโดยเสรีและเป็นธรรม เสรีภาพดังกล่าวอาจถูกจำกัดหากมีกฎหมายเฉพาะให้ทำได้ เช่น ไปประกอบอาชีพที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศเป็นต้น
                16.   สิทธิในการได้รับการศึกษา  ประชาชนมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี รัฐบาลต้องจัดให้มีโรงเรียนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เรียน  นอกจากนี้การจัดการศึกษาต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเอกชนมีส่วนร่วมด้วย
                17.  สิทธิที่จะได้รับบริการทางสาธารณสุข  ประชาชนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน การบริการสาธารณสุขของรัฐต้องทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้คนยากจนมีสิทธิได้รับบริการรักษาพยาบาลจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
                18.  สิทธิในการมีส่วนร่วมคุ้มครองสิ่งแวดล้อม  การดูแลสิ่งแวดล้อมให้ได้ผลจำต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน รัฐธรรมนูญให้โอกาสประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการบำรุงรักษา และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
                19.  สิทธิในฐานะเป็นผู้บริโภค  เพื่อให้ประชาชนได้บริโภค หรือใช้สินค้าที่ปลอดภัยมีคุณภาพ และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้า รัฐธรรมนูญจึงคุ้มครองประชาชนในฐานะผู้บริโภค รวมทั้งให้สร้างองค์กรอิสระที่เป็นตัวแทนผู้บริโภค
                20.  สิทธิในการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร  การที่ประชาชนจะติดตาม ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างได้ผลนั้นประชาชนต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยต่อสารธรณชนและประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้
                21.   สิทธิเกี่ยวกับการกระทำทางการปกครอง  ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การออกคำสั่งหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจกระทบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้บุคคลนั้นมีสิทธิ มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อมีการปฏิบัติราชการทางปกครอง มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ๆ
 
     สิทธิและเสรีภาพสำหรับบุคคลบางจำพวก
 
                นอกเหนือจากสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองไทยทุกคนแล้ว รัฐธรรมนูญยังคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มคนบางจำพวก ดังต่อไปนี้
                1.  สื่อมวลชน
                รัฐธรรมนูญป้องกันการริดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อสารมวลชน จึงห้ามสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์ และห้ามการเซ็นเซอร์ข่าว หรือการส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจข่าวก่อนเผยแพร่เว้นแต่กระทำในระหว่างประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบและต้องอาศัยอำนาจของกฎหมาย
                พนักงานหรือลูกจ้างในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ทั้งภาครัฐและเอกชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็น โดยไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของหน่วยงานภาครัฐหรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดกับจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ
                นอกจากนี้รัฐธรรมนูญถือว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุ โทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะจึงกำหนดให้มีองค์กรอิสระในการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์โทรคมนาคม
 
                2.  เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว
                รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว ให้พ้นจากการใช้ความรุนแรง และการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม เช่น การที่สามีใช้กำลังทุบทำร้ายภรรยาและบุตร หรือบิดามารดาล่ามโซ่บุตรที่วิกลจริต
                สำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่มีผู้ดูแล มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาจากรัฐ
               
            3.  บุคคลสูงอายุ

                บุคคลซึ่งอายุเกิน 60 ปี บริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ

 
            4.  ผู้พิการ
                คนพิการ หรือทุพพลภาพ ถือเป็นผู้ด้อยโอกาสรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ
                5. เจ้าหน้าที่ของรัฐ
                ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การของรัฐ มีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ถูกจำกัดโดยกฎหมายเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจรรยาบรรณ
                6. บุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีอาญา
                บุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีอาญามีทั้งผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย ผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวฟ้องศาลแล้ว พยานที่ไปให้การต่อศาลและถูกคุมขัง
 
     หน้าที่ของปวงชนชาวไทย
 
1.       หน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบบประชาธิปไตย
2.       หน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
3.       หน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
กรณีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่ได้แจ้งเหตุอันควร หรือแจ้งแต่ไม่ใช้เหตุอันควร
จะเสียสิทธิ 8 ประการ
3.1     สิทธิยื่นร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
3.2     สิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
3.3     สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
3.4     สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
3.5     สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย
3.6     สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น
3.7     สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคล
3.8     สิทธิเข้าชื่อร้องให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
4.       หน้าที่ป้องกันประเทศ
5.       หน้าที่รับราชการทหาร
6.       หน้าที่เสียภาษีอากร
7.       หน้าที่ช่วยเหลือราชการ
8.       หน้าที่รับการศึกษาอบรม
9.       หน้าที่พิทักษ์ปกป้องและสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น
10.    หน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

เขาพระวิหาร

  
วันนี้ (11 พ.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น.มีการอ่านคำพิพากษาการตีความคดีปราสาทพระวิหาร โดยศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และโมเดิร์นไนน์ทีวี
      
       ทั้งนี้ ในช่วงแรกผู้พิพากษาระบุถึงข้อพิพาทใน 3 แง่ อันเป็นเหตุผลให้ศาลต้องตีความคำพิพากษาในปี 2505 ตามคำร้องขอของกัมพูชา กล่าวคือ
      
 1.คำพิพากษาในปี 2505 (ค.ศ.1962) มีผลผูกพันถึงเขตแดนของสองประเทศหรือไม่


 2.ความหมายหรือขอบเขตของบทปฏิบัติการในคำพิพากษาปี 2505 ที่ระบุให้ปราสาทเป็นของกัมพูชา

3.พันธะผูกพันในการถอนกำลังของฝ่ายไทย
      
       ทั้งนี้เมื่อคำนึงถึงข้อพิพาทดังกล่าวแล้ว ศาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องตีความบทปฏิบัติการ ศาลจึงมีเขตอำนาจในการพิจารณาคำพิพากษาปี 2505

  ทั้งนี้เมื่อคำนึงถึงข้อพิพาทดังกล่าวแล้ว ศาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องตีความบทปฏิบัติการ ศาลจึงมีเขตอำนาจในการพิจารณาคำพิพากษาปี 2505 ทั้งปฏิเสธการที่ประเทศไทยกล่าวอ้างว่าศาลไม่มีอำนาจในการตีความคำพิพากษาเพิ่มเติม
       
       ศาลโลกระบุด้วยว่า การยอมรับแผนที่ในภาคผนวกหนึ่งของทั้งสองประเทศ ทำให้แผนที่เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญา การตีความจึงต้องเป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริเวณใกล้เคียงของปราสาทพระวิหาร ศาลเห็นว่า เขตแดนของกัมพูชาในทางเหนือนั้น ไม่เกินเส้นแบ่งของภาคผนวก 1 ดังนั้น ศาลจึงพิจารณาพื้นที่เห็นว่า พื้นที่ตามข้อบทปฏิบัติที่สองจึงครอบคลุมถึงชะง่อนผา แทนที่จะจำกัดเพียงพื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรีของไทยในปี 2505 แต่ไม่รวมถึงภูมะเขือ
       
       ศาลอ้างว่าปราสาทพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว โดยทั้งสองชาติมีพันธะกรณีที่จะต้องพูดคุยเพื่อปกป้องมรดกโลกชิ้นนี้ภายใต้การดูแลของยูเนสโก เนื่องจากถูกขึ้นทะเบียนแล้ว และจะต้องสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางประเทศกัมพูชา และประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารที่อยู่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร ศาลจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การขอตีความนั้นศาลมีอำนาจ
       
       ขณะที่ก็มติเอกฉันท์ว่ากัมพูชามีอธิปไตยในดินแดนทั้งหมด ตามที่กำหนดไว้ในวรรค 98 ของคำพิพากษานี้ และไทยมีพันธะต้องถอนกำลังทั้งหมดทั้งทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทั้งหมด พร้อมทั้งอ่านถึงบทปฏิบัติการของคำพิพากษาเป็นภาษาฝรั่งเศส
      
      

 

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วันแม่แห่งชาติ

วันแม่แห่งชาติ

 
 
 
ทุกวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี

วันแม่แห่งชาติปี 2556 นี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2556 และเป็นปีมหามงคลยิ่งเนื่องจากสมเด็จพระบรมราชินีนารถ ทรงมีพระชนมายุครบ 81 พรรษา

ร่วมลงนามถวายพระพร เนื่องในวโรกาสมหามงคล 81 พรรษาราชินี

วันแม่แห่งชาติ หรือที่คนไทยทั่วไปนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า วันแม่ ทุกคนรับทราบและซาบซึ้งกันดี เนื่องจากวันสำคัญนี้ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถคือ วันที่ 12 สิงหาคม อันเป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพและถือว่าเป็นวันแม่ของชาติด้วย
 แต่เดิมนั้น วันแม่ของชาติได้กำหนดเอาไว้วันที่ 15 เมษายนของทุก ๆ ปี ทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติผู้รับมอบหมายให้จัดงาน วันแม่ มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2493 เป็นครั้งแรกเป็นต้นมานั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี ด้วยประชาชนให้การสนับสนุนจนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างขวางออกไป มีการจัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การประกวดคำขวัญวันแม่ การประกวดแม่ของชาติ เพื่อให้เกียรติและตระหนักในความสำคัญของแม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาลฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่าวันแม่ของชาติ
ต่อมาถึง พ.ศ.2519 ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ เริ่มในปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
วันแม่แห่งชาติ เป็นวันที่ทางราชการกำหนดในวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี และถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย โดยกำหนดให้ถือว่า “ดอกมะลิ” สีขาวบริสุทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของความดีงามของแม่ผู้ให้กำเนิดแก่เรา
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ
  1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
  2. ?จัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการ
  3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศล เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่
  4. นำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่
 
 
 

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การเลือกตั้งนายกมาเลเซีย



6 พ.ค.56 พรรคแนวร่วมแห่งชาติ ซึ่งนำโดยพรรคอัมโนคว้าชัยชนะเลือกตั้งทั่วไป ส่งผลนายนาจิบ ราซัก จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอีกสมัย หลังขณะนี้คว้าที่นั่งในสภาได้แล้ว 133 ที่นั่ง

ผลเลือกตั้งทั่วไปมาเลเซียวานนี้ที่ผ่านมา ผลล่าสุดปรากฎว่า พรรคแนวร่วมแห่งชาติ นำโดยนายนาจิบ ราซักวัย 59 ปี คว้าที่นั่งในสภาได้ 133 ที่่นั่ง ซึ่งมากกว่ากึ่งหนึ่งของที่นั่งทั้งหมด 222 ที่นั่ง  ขณะที่นายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำจากพรรคฝ่ายค้านได้เพียง 89 ที่นั่งเท่านั้น โดยผลการเลือกตั้งดังกล่าวมีแนวโน้มว่า นายนาจิบ จะขึ้นเป็นผู้นำมาลาเซียต่ออีกสมัย

คณะกรรมการเลือกตั้งชาติมาเลเซีย เปิดเผยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีประชาชนเดินทางมาใช้สิทธิประมาณ ร้อยละ80 หรือคิดเป็นจำนวน 10 ล้านคน จากทั้งหมด 13 ล้านคน ใน 8,000 หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ 

นายราซัก กล่าวกับผู้สนับสนุนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ว่า  นี่เป็นการตัดสินใจของประชาชน ทุกคนควรยอมรับชัยชนะของพรรครัฐบาลครั้งนี้ โดยพวกเราควรแสดงให้โลกรู้ว่า มาเลเซียมีประชาธิปไตยที่สมบรูณ์

ขณะที่นายอันวาร์ ปฎิเสธยอมรับความพ่ายแพ้ พร้อมกล่าวหาเจ้าหน้าที่ว่า โกง และบิดเบือนผลเลือกตั้ง โดยเฉพาะ ก่อนหน้านี้ ที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนเครื่องบินเช่าเหมาลำขนคนมาลงคะแนนในรัฐสำคัญ รวมถึงมีการใช้หมึกพิเศษที่สามารถลบออกได้ ทำให้มีการสวมสิทธิเกิดขึ้น

นอกจากนี้ องค์กรอิสระที่ตรวจสอบเลือกตั้ง เปิดเผยว่า  มีการออกเอกสารบัตรประชาชนให้คนต่างด้าวลงคะแนนเสียง ขณะที่ฮิวแมนไรท์ วอช ของสหรัฐฯ ระบุว่าก่อนหน้าลงคะแนน มีการโจมตีสำนักข่าวอิสระท้องถิ่นในประเทศ

ทั้งนี้ ชัยชนะของพรรคอัมโนดังกล่าาวถือเป็นครั้งที่  13 ติดต่อกัน  หลังผูกขาดอำนาจเป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ที่มาเลเซียประกาศเอกราชจากประเทศอังกฤษเมื่อปี  2500  ซึ่งเหล่าบรรดานักวิเคราะห์คาดว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่จากฝ่ายค้าน 

สำหรับประวัติของนายนาจิบราซักว่าที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นบุตรชายคนโตของนายอับดุลราซักอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่2ของมาเลเซีย จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม ประเทศอังกฤษ

ต่อมาปี 2517 นายนาจิบเดินทางกลับประเทศ และเข้าทำงานที่บริษัทน้ำมันปิโตรนาสอยู่สักพัก จากนั้นไม่นาน พ่อของนายนาจิบถึงแก่อสัญกรรมอย่างกระทันหัน  ส่งผลให้ตำแหน่งที่นั่งสภาว่างลง 

นายนาจิบ  ตัดสินใจเลงเล่นการเมือง และได้เป็นสมาชิกรัฐภาที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยในขณะนั้นมีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น ในปี 2552 นายนาจิบ มีโอกาสขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นครั้งแรกเนื่องจากนายอับดุลละห์ บาดาวี นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออก